ขอเกริ่นในข้างต้นก่อนว่าบทความที่เขียนขึ้นนี้ มิใช่บทความทางวิชาการ เป็นเพียงประสบการณ์ตรงและความคิดเห็นของผู้เขียนเท่านั้น ซึ่งคำแนะนำต่างๆ ที่ถูกต้องควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเป็นหลัก และ หากมีความเห็นไม่ตรงกันกับบทความนี้ ทางผู้เขียนใคร่ขอให้ท่านนำข้อสงสัยไปปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพิ่มเติม
เนื่องจากในประเทศไทย ยังไม่มีบทความใดที่กล่าวถึงรายละเอียด ขั้นตอนการดูแลผู้ป่วยหัวใจรั่วโดยตรง ผู้เขียนในฐานะที่เคยเป็น"แม่" ของเด็กที่เป็นโรคนี้ จึงขอนำความรู้ที่ได้ออกเผยแพร่เพื่อเป็นวิทยาทานแด่คุณพ่อ-คุณแม่ ผู้ปกครองท่านต่างๆ ที่มีข้อสงสัยในการดูแลเด็กหัวใจรั่ว โดยผู้เขียน ได้ศึกษาหาความรู้ต่างๆ จากทั้งทางตำราไทย และต่างประเทศ รวมทั้ง Discuzz กับผู้ปกครองหลายท่านระหว่างอยู่ในโรงพยาบาล จนได้ข้อสรุปบางประการเกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วย ในมุมมองของพ่อ-แม่ ดังนี้
1. เมื่อทราบว่าลูกเป็นหัวใจรั่วแล้ว เราจะต้องทำอย่างไร?
เป็นคำถามที่ Basic ที่สุด ที่คุณหมอโรคหัวใจต้องตอบทุกครั้ง ที่ประกาศผล Echo ต่อหน้าผู้ปกครอง สิ่งแรกที่พ่อแม่ผู้เอาใจใส่ต่อลูก ต้องทำคือ ศึกษารายละเอียดคร่าวๆ ของโรคเพื่อทำความเข้าใจอาการของลูกก่อน ขอให้ตั้งใจฟังอาการต่างๆ ที่ทางแพทย์ได้อธิบายให้ดี เช่น เด็กจะเหนื่อยหอบง่าย, หงุดหงิด, ตัวแคระแกร็น เจริญเติบโตช้า ฯลฯ อาจเป็นความรู้ใหม่สำหรับพ่อแม่บางคน ในเว็บต่างๆ มีรายละเอียดเรื่องหัวใจรั่วค่อนข้างเป็นทางการ และเป็นภาษาแพทย์ ท่านอ่านแล้วอาจจะงง ถึงงงมากสำหรับผู้ที่ไม่ได้เรียนทางวิทยาศาสตร์ หมอจะอธิบายอาการของโรค และ การดูแลเบื้องต้น เช่นอาหารการกิน แนวทางการรักษา
แต่คำถามที่พ่อแม่ผู้ปกครองส่วนใหญ่มักต้องการคำตอบ คือนับจากวันนี้ฉันต้องดูแลลูกต่างไปจากเดิมอย่างไร? หมอจะไม่สามารถอธิบายได้ เพราะหมอไม่เคยมีลูกป่วยเป็นหัวใจรั่ว ดังนั้น คำตอบที่ได้อาจไม่โดนใจนัก! หมอจะพูดว่า ก็ทำเหมือนที่เคย แต่ให้ดูแลเรื่องอาหารการกินหน่อย... อยากจะบอกว่าสำหรับเด็กที่เป็นหัวใจรั่วค่อนข้างรุนแรง มันไม่ใช่ ดังนั้นผู้เขียนจะพยายามอธิบายให้เข้าใจอย่างละเอียดที่สุด ซึ่งอาจไม่ครบถ้วนทุกหัวข้อภายในเร็ววัน หากผู้ปกครองท่านใดใจร้อนหรือ อยากได้คำแนะนำแบบด่วนพิเศษ สามารถฝากคำถามไว้ก่อนได้ค่ะ
สิ่งแรกตั้งแต่ตื่นนอนมา... ทันทีที่รู้ว่าลูกป่วยเป็นโรคนี้คือ ปลูกฝังให้ลูกมีนิสัยรักการแปรงฟัน เด็กหัวใจรั่ว จะติดเชื้อในกระแสเลือดได้ง่าย "ฟัน" เป็นปัจจัยสำคัญของการติดเชื้อในกระแสเลือด เพราะหากเด็กฟันผุ เชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อโรคต่างๆในปาก จะเข้าสู่กระแสเลือดทางโพรงประสาทฟัน ทำให้เด็กติดเชื้อและ เสียชีวิตได้
วิธีการคือ หากเด็กยังไม่มีฟัน ก็ยืนแปรงฟันให้ลูกดู ให้ลูกถือแปรงสีฟัน แปรงฟันด้วยอาการร่าเริงและร้องเพลงให้ลูกฟังขณะแปรงฟัน หากเด็กเล็กประมาณ 6-7 เดือน จะมีแปรงนวดเหงือกแบบไม่มีขนแปรงขาย คุณให้เขาหัดถือแปรงสีฟัน หากเขาเอาเข้าปาก กรุณาอย่าห้าม ให้เขาอมแปรงไว้เพื่อให้คุ้นเคย แล้วคุณช่วยเอามือจับอย่าให้กระแทกปากเท่านั้น เด็กจะไม่กลัวแปรงสีฟัน เพราะถ้าคุณไปบังคับโดยเริ่มให้ลูกหัดแปรงฟันตอน 2 ขวบ เขาจะไม่ยอมเด็ดขาด เพราะคุณเคยห้ามเขา เมื่อตอนอายุ 7 เดือนแล้ว เด็กจะไม่เข้าใจว่า ไอ้สิ่งของที่คุณเคยห้ามเขาเอาเข้าปาก มาบัดนี้ จะมายัดใส่ปากฉันเพื่ออะไร? (วิธีนี้ใช้ได้กับเด็กทั่วไปด้วยค่ะ)
สิ่งพิเศษสิ่งแรกสำหรับเด็กหัวใจรั่วที่ต่างจากเด็กธรรมดาทั่วไปคือ พ่อแม่จะพาเด็กไปหาหมอฟันเองไม่ได้ ต้องปรึกษาแพทย์โรคหัวใจก่อน ดังนั้น วิธีป้องกันคือ สอนให้ลูกรักการแปรงฟัน อย่าให้ลูกฟันผุ!
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น