โรคหัวใจรั่ว หรือ ตามหลักวิชาการแล้วเรียก โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด (Congenital Heart Disease) ในปัจจุบัน เป็นโรคที่มีสถิติสูงขึ้นมากในประเทศไทย เป็นโรคที่หาสาเหตุได้ไม่ชัดเจน บ้างว่าพันธุกรรม หรือ ความผิดปรกติในระหว่างเดือนแรกๆ ของการตั้งครรภ์ มีเป็นโรคนี้ทั้งครอบครัวทีอาศัยอยู่ในเมือง และชนบทห่างไกล และมีทั้งพันธุกรรม รวมถึงครอบครัวที่ไม่มีประวัติทางพันธุกรรมเรื่องโรคหัวใจรั่วมาก่อน แต่ผลตรวจโครโมโซม อาจระบุได้ว่าโครโมโซมของผู้ป่วยอาจไม่สมบูรณ์ในบางส่วน
อาการของโรคข้างต้น อาจปรากฏชัดหรือ ไม่ชัด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของโรคที่เป็น กล่าวคือ ถ้ามีอาการค่อนข้างรุนแรง ผู้ป่วยจะมีลักษณะทางกายภาพที่เห็นได้ชัดคือ ปากเป็นสีม่วง ตัวเขียวคล้ำ แคระแกร็น เจริญเติบโตช้า ปลายนิ้วเป็นปุ่มปม คล้ายไม้กลอง มีอาการเหนื่อยหอบง่าย ขี้ร้อน ขี้หงุดหงิด
สาเหตุจากการที่โลหิตหมุนเวียนในร่างกายไม่เป็นระบบ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการกระวนกระวาย เหงื่อออกตามฝ่ามือ และเท้า หายใจติดขัด หากมีอาการรุนแรง โดยเลือดดำปนอยู่ในหลอดเลือดแดงในปริมาณมากจะทำให้ร่างกายขาดออกซิเจน ผู้ป่วยจะมีอาการชักเกร็ง ตัวแข็ง หรือ ตัวอ่อนปวกเปียกหมดสติไป โดยไม่กำหนดเวลา ว่าจะเป็นช่วงใด การออกกำลังกายอย่างมาก หรือ การอยู่ในที่อากาศถ่ายเทไม่สะดวก อาจเป็นปัจจัยกระตุ้นให้ผู้ป่วยมีอาการชักได้ง่าย ภาษาแพทย์ เรียกอาการนี้ว่าสเปล (spell)
หากผู้ป่วยมีอาการ spell แล้ว จะต้องนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที เนื่องจากเป็นสัญญาณอันตราย เตือนให้ทราบว่าผู้ป่วยจะไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่อีกได้นาน หากไม่เข้ารับการผ่าตัดหัวใจ
วิธีการดูผลผู้ป่วยโรคหัวใจรั่วเบื้องต้นในทุกอาการ ทั้งแบบ ASD, VSD, PDA, TOF, AS, PS, COA ทางพ่อแม่ผู้ปกครองควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับตัวโรคนี้เสียก่อนว่า บุตรหลานของท่านป่วยในลักษณะใด มีอาการของโรคมากน้อยเพียงใด เพื่อจะได้เข้าใจระบบการทำงานของหัวใจเด็ก และหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นให้เด็กมีอาการของโรคมากขึ้น ในผู้ปกครองรายที่มีฐานะค่อนข้างดี สามารถซื้อเครื่องผลิตออกซิเจน หรือถังออกซิเจนไว้ให้ผู้ป่วยใช้ เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยหายใจสะดวกขึ้นได้ พ่อแม่ผู้ปกครอง ควรปรับห้องนอนของบุตรหลานที่เป็นโรคนี้ โดยการทำห้องนอน และที่อยู่อาศัยให้สะอาด เพื่อให้เด็กปลอดการติดเชื้อ เด็กที่เป็นหัวใจรั่ว จะเป็นปอดบวม หรือปอดอักเสบได้ง่าย เนื่องจากหัวใจไม่สามารถสูบฉีดโลหิตได้ทัน ทำให้น้ำท่วมปอดได้ง่าย การหายใจเอาฝุ่นละอองเข้าร่างกายมาก จะทำให้เด็กหายใจติดขัด ประกอบกับออกซิเจนที่มีอยู่ในเลือดน้อย จะทำให้เด็กรู้สึกอึดอัด ขี้ร้อน ขี้หงุดหงิด เนื่องจากไม่สบายตัว ผู้ปกครองอาจติดถังออกซิเจนในห้องนอน เพื่อช่วยเด็กให้หายใจสะดวกเวลานอน, ติดเครื่องฟอกอากาศเพื่อกรองฝุ่นละออง รวมทั้งเครื่องปรับอากาศได้ หากเด็กมีอาการค่อนข้างรุนแรง นอกจากนั้นปัจจัยเสริมเรื่องอาหารการกินก็เป็นเรื่องที่พ่อแม่ผู้ปกครองควรเอาใจใส่ เมื่อในหลอดเลือดแดงมีเลือดเสียปนอยู่มาก ร่างกายเด็กจึงเจริญเติบโตช้า รวมทั้งพัฒนาการก็จะช้า แต่เด็กจะไม่ปัญญาอ่อนเพราะเป็นคนละโรคกัน ผู้ปกครองควรหาอาหารเสริมให้บุตรหลานเพิ่มเติม จากปรกติ เด็กจะมีสุขภาพที่ดีขึ้น ซึ่งบางครั้งในรายที่มีอาการหัวใจรั่วเพียงเล็กน้อย ร่างกายอาจสร้างกล้ามเนื้อมาปิดรอยรั่ว ทำให้เด็กหายจากโรคได้
อาหารต่างๆ ที่มีรสเค็ม หรืออาหารมันควรหลีกเลี่ยงไม่ให้เด็กรับประทานมากเกินไป ควรทำอาหารให้มีรสค่อนข้างจืด เพื่อช่วยไม่ให้หัวใจเด็กทำงานหนัก การออกกำลังกายอย่างหนัก เช่น วิ่ง หรือว่ายน้ำ อาจทำให้เด็กหัวใจวายเฉียบพลันได้ ผู้ปกครองควรเรียนรู้เรื่องของการปฐมพยาบาล เมื่อผู้ป่วยหยุดหายใจ เพราะทุกวินาทีมีค่ามากในการช่วยชีวิตผู้ป่วยโรคนี้ หากส่งผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลโดยที่ไม่มีการปฐมพยาบาลไประหว่างทางนั้น จะทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ง่ายขึ้น
นอกจากนั้นผู้ป่วยต้องได้รับการรักษาจากแพทย์ตลอดเวลา ผู้ปกครองควรพาเด็กไปพบแพทย์เพื่อเช็คอาการของโรคและขอคำแนะนำจากแพทย์ รวมทั้งหาแนวทางในการรักษาโดยตลอด เนื่องจากโรคนี้เป็นอันตราย โดยตรงถึงชีวิตเด็ก ไม่ใช่โรคปวดหัวตัวร้อนที่สามารถรักษาหายได้เองในกรณีเด็กมีอาการมาก หากแพทย์แนะนำให้ผ่าตัดหัวใจได้ ก็เป็นอีกทางเลือกที่ดีทางหนึ่งเพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วย หรือในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถผ่าตัดได้ ผู้ปกครองสามารถยื้อชีวิตเด็กให้ยืนยาวได้ด้วยการเอาใจใส่ในทุกรายละเอียดเกี่ยวกับตัวเด็ก ซึ่งจะอธิบายให้ทราบอย่างละเอียด ในหัวข้อถัดไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น