วันอังคารที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2554

การดูแลผู้ป่วยเด็กหัวใจรั่ว (2)

2. อาหาร สำหรับเด็กหัวใจรั่ว
จากที่ได้กล่าวมาในครั้งก่อน เรื่องการดูแลรักษาสุขภาพฟัน ของเด็กที่เป็นโรคหัวใจรั่วให้มีดีอยู่เสมอ ดังนั้น ลูกอม ขนมขบเคี้ยวต่างๆ จึงไม่ควรหัดให้เด็กรับประทาน
ขนมถุงกรอบๆ ต่างๆ มักใส่สารกันบูด ผงชูรส และ มีรสเค็ม อาหารที่มีรสเค็มจะทำให้หัวใจของผู้ป่วยทำงานหนัก เนื่องจากอาหารเค็มนั้นจะเพิ่มความดันโลหิต อธิบายง่ายๆ การที่ผู้ป่วยมีหัวใจรั่ว ก็เปรียบเหมือนปั๊มน้ำที่เกือบพัง เครื่องหนึ่ง หากปั๊มน้ำทำงานหนัก ก็จะเร่งให้เครื่องเสียเร็วมากขึ้น
อาหารใดๆ ก็ตามที่แพทย์ไม่แนะนำให้ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจรับประทาน เด็กที่เป็นหัวใจรั่วก็ไม่ควรรับประทานเช่นกัน
อาหารเสริมต่างๆ ควรมีให้เด็กรับประทานเสมอ โดยเฉพาะโปรตีน สำหรับเด็กที่มีหัวใจรั่วเล็กน้อย โปรตีนก็อาจช่วยสร้างกล้ามเนื้อหัวใจขึ้นมาปิดรอยรั่ว และทำให้เด็กหายจากโรคนี้ได้
ในกรณีที่เด็กมีอาการของโรคค่อนข้างมาก คือตัวเล็ก แคระแกรน ตัวเขียว อาหารเสริมต่างๆ ยิ่งมีความจำเป็นมากต่อการเจริญเติบโตของเด็ก เช่น โปรตีน และวิตามินต่างๆ (หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถสอบถามได้)

          พ่อแม่ผู้ปกครองทุกท่าน ต่างก็มีความหวังที่บุตรหลานของท่านจะหายป่วยจากโรคนี้ แม้บางครั้งอาจเหลือน้อยเต็มทนสำหรับผู้ป่วยในบางราย แต่การที่เราได้ทำสิ่่งที่ดีที่สุดให้ลูกของตนเอง ก็ยังดีกว่าที่จะให้เขาเสียชีวิตไป แล้วมาคร่ำครวญในภายหลังว่ารู้อย่างนี้ทำอย่างนั้นอย่างนี้ให้ลูกดีกว่า สำหรับตัวผู้เขียนนั้น ก็เป็นเหมือนพ่อแม่ทั่วไปคนหนึ่ง ที่มีความหวังที่จะให้ลูกได้มีชีวิตอยู่กับเรานานที่สุด ซึ่งหมอก็ไม่เคยให้ความหวังอะไรตั้งแต่วันแรกที่ลูกลืมตาดูโลกแล้ว ว่า "น้องมีสิทธิ์จากเราไปทุกวินาทีต่อจากนี้ ขอให้คุณแม่ทำใจ" ซึ่งผู้เขียนนั้น สามารถเลี้ยงลูกให้มีชีวิตอยู่ได้ถึงสองปีครึ่ง โดยสามารถพูดได้เต็มปากเต็มคำเลยว่า ฉันได้ดูแลลูกอันเป็นที่รักอย่างดีที่สุดแล้ว ถึงแม้ลูกน้อยจะจากไป แต่ฉันไม่เคยเสียใจเลย ทุกสิ่งทุกอย่างที่ฉันได้ทุ่มเทให้เขา ทั้งแรงกาย แรงใจ รวมทั้งทุกสิ่งที่ดีที่สุด ที่พึงจะหาให้ลูกได้..

3. การออกกำลังกาย
ผู้ป่วยหัวใจรั่วบางราย มีภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลันได้ง่าย ในกรณีที่เด็กมีอาการของโรคเล็กน้อย การได้รับการออกกำลังกายเบาๆ ก็สามารถช่วยให้เด็กมีพัฒนาการที่ดีขึ้นได้
กีฬาหนัก เช่น ว่ายน้ำ และการวิ่ง ควรงดเว้น จนกว่าแพทย์ผู้รักษาจะเห็นควรให้เล่นได้ สภาวะแวดล้อมรอบตัวเด็ก ควรพยายามทำให้เป็นธรรมชาติ ในกรณีที่เด็กมีอาการไม่รุนแรง เด็กจะสามารถปรับตัวเข้ากับสภาวะแวดล้อมรอบตัว ทำให้สามารถอาศัยอยู่อย่างคนปรกติได้ อย่าปล่อยให้บุตรหลานวิ่งเล่น หรือ ออกกำลังกายเพียงลำพัง หากเล่นที่โรงเรียน กรุณากำชับอาจารย์ผู้สอน ว่าเด็กเป็นหัวใจรั่วด้วย เพื่อให้ครูระมัดระวังมากขึ้น การติดเบอร์โทรติดต่อผู้ปกครองไว้ในกระเป๋าเสื้อเด็ก และรายละเอียดเกี่ยวกับโรงพยาบาล ผู้ปกครองจะต้องทำ เพราะหากเด็กช็อคระหว่างอยู่ที่โรงเรียน หรือที่อื่นๆ จะสามารถติดต่อกลับได้ทันเวลา

4. ที่อยู่อาศัย
ดังที่กล่าวในข้างต้นแล้ว ว่าเด็กที่มีอาการเพียงเล็กน้อย จะสามารถปรับตัวเข้ากับที่อยู่อาศัยได้เอง สิ่งสำคัญหลักสำหรับเด็กหัวใจรั่ว เรื่องที่อยู่อาศัย คือ อากาศโปร่ง โล่ง สบาย  ผู้เขียนจะขออธิบายอีกครั้งเรื่องการทำงานของหัวใจและปอดเด็ก เนื่องจากหัวใจเด็กสูบฉีดโลหิตได้ไม่เต็มที่ รวมทั้งบางกรณีที่เลือดลัดวงจร จากเลือดเสีย ปนกันกับเลือดดี และการปั๊มเลือดจ่ากปอดเข้าสู่ร่างกายไม่ทัน เด็กจะเกิดสภาวะน้ำท่วมปอด หรือเรียกว่าปอดบวม ปอดอักเสบ ซึ่งเป็นโรคคู่กันกับโรคหัวใจรั่ว เด็กจึงต้องได้รับอากาศที่โปร่ง สะอาด และถ่ายเทได้สะดวก แต่ในกรณีที่เด็กมีอาการมาก คือเด็ก spell บ่อย หากผู้ปกครองมีฐานะทางเศรษฐกิจค่อนข้างดี การติดเครื่องปรับอากาศ เครื่องฟอกอากาศ และถังออกซิเจนติดบ้านไว้ ก็สามารถทำได้ เครื่องนอนต่างๆ ควรดูแลไม่ให้มีฝุ่นสกปรก ควรเปิดหน้าต่างห้องนอนเพื่อให้อากาศไหลเวียนได้สะดวก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น